โครงการพระธัมมเจดีย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงพุทธธรรมกับบริบทร่วมสมัยเพื่อคนรุ่นใหม่
ได้มีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์เยาวชนไทยหัวใจใฝ่ธรรม (Dhamma Legacy Centre) https://mindgen.net/about และกำลังพัฒนาหลักสูตรการฝึกสติ(Mindfulness) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ให้กับเยาวชนที่จะเป็นผู้นำยุคใหม่ ด้วยการใช้เนื้อหาพุทธธรรมที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยพร้อมกัน
โดยมุ่งหวังให้สามารถสร้างให้เกิดเป็นการขับเคลื่อนทางสังคม (Social movement) ที่จะเรียกว่า กระบวนการ Mind Gen (Mindful Generation) ที่เป็นเครือข่ายและชุมชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องจิตใจและมีอุดมการณ์ที่จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ได้มีสังคมของเยาวชนเอง ที่เป็นทางเลือกมากกว่าสังคมที่เน้นเพียงการบริโภคและติดอยู่หน้าจอมือถือ
ศูนย์สร้างสรรค์เยาวชนไทยหัวใจใฝ่ธรรม (Dhamma Legacy Centre) ซึ่งมีวัตถุประสงค์
"เพื่อส่งต่อมรดกธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สู่เยาวชนรุ่นใหม่ด้วยกระบวนวิธีที่สมสมัยและเหมาะกับธรรมชาติการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มคน บนพื้นฐานของพุทธธรรม ให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง"
- สืบทอดธรรมะของพระพุทธองค์ ด้วยความเข้าใจในวิถีชีวิตของ เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยตั้งต้นที่การมีสติและสัมปชัญญะในการดำรงชีวิตประจำวัน และต่อเนื่องไปถึงการใช้หลักพุทธธรรมนำชีวิตในการเกี่ยวข้องกับผู้คนและวัตถุสิ่งของ
- ใช้หลักบุญกิริยาวัตถุ 3 (ทาน ศีล และ ภาวนา) ในการยกระดับและพัฒนาชีวิตของเยาวชน คือ หนึ่ง การรู้จักเสียสละและทำประโยชน์ให้ผู้อื่น สอง การมีวินัยและบังคับตัวเองเพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ สาม การฝึกที่จะมีความสุขภายในจิตใจของตน ด้วยสติสัมปชัญญะ
- สร้างเหตุปัจจัยให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่เป็นกัลยาณมิตรกัน ผ่านการทำกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นร่วมกันและการช่วยเหลือยกระดับชีวิตของกันและกัน ตลอดจนสอดประสานกับการประกอบสัมมาอาชีพที่เหมาะสมกับยุคสมัยให้ยั่งยืน
- ใช้วัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ยังมีฐานกว้างใหญ่อยู่ที่พระพุทธศาสนา เพื่อสร้างคุณธรรมในสังคมผ่านคนรุ่นใหม่
- ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมสมัย เพื่อการเรียนรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายกัลยาณมิตรเข้าด้วยกัน อย่างมีประสิทธิภาพด้วยงบประมาณในระดับที่กลุ่มเครือข่ายสามารถเข้าถึงได้
หลักบุญกิริยาวัตถุ 3 และ ไตรสิกขา สำหรับคนรุ่นใหม่
กระบวนการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นการต่อยอดแนวทางตามหลักพุทธธรรม ซึ่งเป็นหลักในการพัฒนายกระดับจิตใจมนุษย์ที่เป็นสากล อันประกอบด้วยบุญกริยาวัตถุ 3 (ทาน ศีล ภาวนา) และไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นฐานในการส่งเสริมพฤติกรรมของกลุ่มผู้นำที่พร้อมจะให้ (Give - ทาน) ผ่านการมีความอดทนฝึกฝนตนเองอย่างมีระบบระเบียบมีวินัย (Grit - ศีล) ด้วยการรู้จักใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมผสานเข้ากับความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยได้อย่างเหมาะสม (Grow - ภาวนา) เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้กับการต่อยอดไปสู่สุขภาวะในการดำเนินชีวิต ที่มีความชัดเจนต่อพฤติกรรมหรือการกระทำของตนเอง (Clear - ศีลสิกขา) มีสภาพจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหวในความเปลี่ยนแปลงภายนอก (Clam - จิตตสิกขา) และเป็นสุขสงบเย็น เพราะมองเห็นแนวทางแก้ปัญหา หรือการวางท่าที หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไม่ลังเลสงสัย (Cool - ปัญญาสิกขา) เพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนจากภายในของแต่บุคคลที่ดำรงตนอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญา อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมสุขภาวะ